หุ้นและคริปโตเป็นทรัพย์สินเสี่ยงที่เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักลงทุนว่าอะไรดีกว่ากัน อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์เสี่ยงทั้งสองชนิดต่างก็มีข้อดีและข้อเสียต่างกันไป รวมถึงมีจุดแข็งที่ต่างกันด้วย
หุ้นเป็นสินทรัพย์เสี่ยงที่อยู่คู่กับเรามานาน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนามาเรื่อยๆ ก็ได้มีสินทรัพย์อีกชนิดหนึ่งเกิดขึ้นมาให้นักลงทุนได้สร้างผลกำไรกัน ก็คือคริปโตนั่นเอง โดยคริปโตมีทั้งมุมที่คล้ายกับหุ้นและมุมที่ไม่เหมือนหุ้น นักลงทุนชื่อดังของโลกที่คร่ำหวอดในวงการตลาดหลักทรัพย์หลายท่านก็ถึงขึ้นออกมาโจมตีคริปโตว่าเป็นเรื่องลวงโลก แล้วความจริงคืออะไร คริปโตเป็นแชร์ลูกโซ่จริงหรือไม่
หุ้นคืออะไร? จุดกำเนิดของการลงทุนในหุ้น
แรกเริ่มเดิมที ต้นกำเนิดของหุ้นเกิดความต้องการเงินทุนในการล่าล่าอาณานิคมโดยคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสซึ่งต่อมาเป็นผู้ค้นพบทวีปอเมริกา ต้องการเงินในการเดินทางไปสำรวจโลก จึงได้ขอเงินทุนจากพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 5 ซึ่งกษัตริย์ของสเปน โดยสัญญาว่าผลประโยชน์ใดๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง จะตกเป็นของพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 5 ทั้งหมด แนวคิดนี้คือว่าเป็นแก่นหลักของหุ้นเลยทีเดียว เพราะหุ้นนั้นก็คือการระดมทุนจากผู้อื่นเพื่อทำธุรกิจโดยสัญญาว่าจะมีผลกำไรตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นเงิน สิ่งของหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ
ต่อมา แนวคิดของหุ้นก็เริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงยุคศตวรรษที่ 17 เนื่องจากคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเดินทางข้ามโลกแบบเชิงพาณิชย์เพื่อทำการค้าขายและทำการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างนานาทวีป อย่างไรก็ตาม การจะทำเช่นนั้นต้องใช้เงินมากมายในการสร้างเรือที่แข็งแรงมากพอที่จะทนต่อลมและกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก รวมถึงการมีกำลังคนที่แข็งแกร่งมากพอในการรับมือกับโจรสลัด การนำเสนอขายหุ้นเพื่อรวบรวมเงินทุนและสัญญาว่าจะให้ผลกำไรตามสัดส่วนของเงินที่ลงทุนเป็นการตอบแทนก็ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยบริษัทแรกที่มีการนำเสนอขายหุ้นเพื่อมาลงทุนทำธุรกิจก็คือ Dutch East India Company หรือ VOC (Vereenigde Oost-Indische Compagnie)
แนวคิดดังกล่าวนี้มีเหมือนกับหุ้นในปัจจุบันอย่างมาก ปัจจุบันหุ้นเป็นสิ่งที่ใช้บอกสัดส่วนความเป็นเจ้าของของบริษัท รวมถึงยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเก็งกำไรอีกด้วย

ที่มาของคริปโตและมูลค่าที่แท้จริง
ในส่วนของคริปโตจะมีต้นกำเนิดที่แตกต่างกันออกไป คริปโตมีต้นกำเนินมาจากความต้องการที่จะสร้างระบบที่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินแบบไร้ตัวกลาง (peer to peer) ไม่ว่าใครก็สามารถสร้างบัญชีสำหรับการทำธุรกรรมและทำธุรกรรมได้อย่างอิสระทั้งในและต่างประเทศโดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว โดยสกุลเงินคริปโตสกุลเงินแรกที่เกิดขึ้นก็คือบิตคอยน์ (Bitcoin) ที่เป็นเหมือนสกุลเงินดิจิทัลที่ทำงานอยู่บนเครือข่ายที่เรียกว่าบล็อกเชน (Blockchain)
ด้วยจุดเด่นนี้เองที่ทำให้บิตคอยน์ในยุคแรกๆ ได้รับความนิยมเหล่าอาชญากรใต้ดินหรือผู้ที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนในการทำธุรกรรม อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบที่กำหนดเงื่อนไขการสร้างบิตคอยน์ที่ยากลำบากและจำนวนที่จำกัด ทำให้มีคนเปรียบเทียบว่าบิตคอยน์ก็คือทองคำดิจิทัล
ความสำเร็จของบิตคอยน์ทำให้มีคนเห็นศักยภาพของเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังบิตคอยน์อย่างบล็อกเชน (Blockchain) ทำให้มีการพัฒนาต่อเนื่องจนเกิดคริปโตอีกมากมายหลายชนิดที่มีการทำงานแตกต่างจากบิตคอยน์ สกุลเงินคริปโตเหล่านี้เองที่เป็นเครื่องมือในการระดมทุนสำหรับขับเคลื่อนโปรเจคใหม่ๆ และเทคโนโลยีบล็อกเชนที่กำลังจะพลิกโฉมอินเตอร์เน็ตแบบ Web 2 แบบเดิมๆ

คริปโต VS หุ้น
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนและเปรียบเทียบได้อย่างรวดเร็ว เราจะเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของสินทรัพย์ทั้งสองประเภท
ข้อดีและข้อเสียของหุ้น
ข้อดี
- เป็นสินทรัพย์ที่มีการซื้อขายมายาวนาน สามารถประเมินมูลค่าที่แท้จริงได้จากงบดุล เอกสารทางการเงินและธุรกิจ
- มีกฎหมายคุ้มครองรองรับชัดเจนจึงค่อนข้างมีความปลอดภัยสูง
- การผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับคริปโต
- สำหรับนักลงทุนที่ไม่ชอบการเทรด สามารถถือหุ้นที่มีเงินปันผลเป็นระยะเวลานานได้
ข้อเสีย
- เนื่องจากมีความผันผวนต่ำ โอกาสในการสร้างกำไรสูงในระยะเวลาไม่นานจึงมีความเป็นได้น้อย โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่
ข้อดีและข้อเสียของคริปโต
ข้อดี
- เป็นสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้นักลงทุนสามารถซื้อสินทรัพย์ที่มีอนาคตได้ในราคาต้นน้ำและสร้างกำไรสูงในอนาคต
- ความผันผวนที่สูง ทำให้นักลงทุนที่มีประสบการณ์สามารถสร้างโอกาสในการทำกำไรจำนวนมากได้ในเวลาอันรวดเร็ว
- มีลูกเล่นและเครื่องมือในการทำกำไรที่หลากหลายใน Decentralized Finance เช่น การวางคู่เหรียญใน Liquidity pool และได้เหรียญต่างๆ ตอบแทนหรือการผลิต ซื้อขายและลงทุนใน NFT
ข้อเสีย
- เป็นสินทรัพย์เกิดใหม่ที่กฎหมายบางข้อยังไม่ครอบคลุม ดังนั้นก็จะมีความเสี่ยงในด้านของความปลอดภัย
- มูลค่าที่แท้จริงอยู่บนมูลค่าของเทคโนโลยีและจำนวนผู้ใช้งานจริงที่อยู่ในระบบนิเวศเป็นหลัก ซึ่งบางครั้งยากที่จะตรวจสอบหามูลค่าที่แท้จริงได้หากไม่เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีบล็อกเชน
- ความผันผวนสูง ทำให้นักลงทุนที่ยังไม่ชำนาญอาจจะสูญเสียทรัพย์สินหรือถูกหลอกให้ลงทุนในโปรเจคที่สร้างโดยมิจฉาชีพ
ถึงแม้ว่าคริปโตและหุ้นต่างก็เป็นทรัพย์สินเสี่ยงที่สร้างผลกำไรให้กับนักลงทุน ทรัพย์สินเสี่ยงทั้งสองชนิดมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกันไป รวมถึงมีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวที่แตกต่างกันด้วย นักลงทุนควรศึกษาและพิจารณาว่าตนเองยอมรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน เพื่อที่จะหาสินทรัพย์ที่เหมาะกับตัวเองให้มากที่สุด