คริปโตคืออะไร ? (Cryptocurrency)

คริปโตคืออะไร

คริปโตคืออะไร ? คริปโต (Cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัลถือเป็นสินทรัพย์อีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน เนื่องจากสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงได้ในเวลาอันสั้น แต่อย่างไรก็ตามก็ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากเช่นเดียวกัน

คริปโต (Cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัลกลายเป็นสินทรัพย์น้องใหม่ เป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่ต้องการหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ ที่ได้ผลตอบแทนสูง ในโลกของคริปโตนั้น นักลงทุนที่โชคดีและเก่งฉกาจอาจจะทำกำไรได้เป็น 1,000% ในชั่วข้ามคืน ในทางกลับกันก็อาจจะขาดทุนกว่า 1,000% ได้ในพริบตาเช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงที่สุดสินทรัพย์หนึ่งเลยก็ว่าได้

ด้วยผลตอบแทนที่สูงยั่วตายั่วใจ ความผันผวนที่รุนแรงเหมือนพายุ รวมถึงพื้นฐานของธุรกิจที่อยู่ในโลกคริปโตที่ยังทำให้นักลงทุนชื่อดังในวงการหลายท่านยังเคลือบแคลงใจ จึงทำให้คริปโตเป็นหลักทรัพย์ที่ยังเป็นหัวข้อให้ถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้ว่าจะเป็นหนึ่งในแชร์ลูกโซ่ครั้งใหญ่ของโลกการลงทุนอีกครั้งหนึ่งหรือไม่

คริปโตคืออะไร ต้นกำเนิดคริปโตมาจากไหน ?

สกุลเงินคริปโตสกุลเงินแรกที่เกิดขึ้นมาบนโลกก็คือบิตคอยน์(Bitcoin) โดยบุคคลนิรนามคนหนึ่งที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto ทำการเผยแพร่เอกสารฉบับหนึ่งชื่อว่า ‘Bitcoin: a Peer-to-Peer Electronic Cash System’ ในปี 2008 โดยเอกสารนี้ก็คือ Whitepaper ของบิตคอยน์ อธิบายการทำงานของบิตคอยน์บนเครือข่ายที่เรียกว่าบล็อกเชน (Blockchain) อย่างละเอียด

หลังจากที่เอกสารฉบับดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ ระบบบล็อกเชนของบิตคอยน์ก็เกิดขึ้นจริงๆ ในปี 2009 โดยโปรแกรมเมอร์กลุ่มหนึ่งที่เชื่อกันว่าได้ร่วมงานโดยตรงกับ Satoshi Nakamoto

คริปโตคืออะไร

คริปโตคืออะไร? มีประเภทใดบ้าง

ก่อนจะฟันธงว่าคริปโตเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ เราอาจจะต้องศึกษาคริปโตแต่ละประเภทเสียก่อน แก่นของคริปโตก็คือการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ 2 เทคโนโลยีเข้าด้วยกันก็คือการเข้ารหัส (Cryptographic) และบล็อกเชน (Blockchain)   โดยคริปโตถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมการเงินมีความสะดวกและง่ายดายมากขึ้น สามารถทำธุรกรรมข้ามประเทศได้ในค่าธรรมเนียมที่ถูกในเวลาอันรวดเร็วโดยยังคงความเป็นส่วนตัวและปลอดภัยเอาไว้ ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางใดๆ หรือที่เรียกว่า Peer to Peer นี้จึงเป็นที่มาว่าทำไมคริปโตซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเทคโนโลยีรูปแบบหนึ่งจึงถูกจำกัดความว่าเป็นสกุลเงินดิจิทัล

หลังจากบิตคอยน์ถือกำเนิดขึ้น ก็มีการพัฒนาและสร้างสกุลเงินอื่นๆ ตามมาอีกมากมายในจุดประสงค์ที่แตกต่างจากบิตคอยน์เล็กน้อยตามความตั้งใจของผู้สร้าง โดยเราอาจจะสามารถจำแนกประเภทของคริปโตได้ตามนี้

  1. Store of value สกุลเงินที่รักษามูลค่าและสู้กับเงินเฟ้อ เช่น Bitcoin (BTC) Litecoin (LTC) และ Bitcoin Cash (BCH) เป็นต้น
  2. Smart contract สกุลเงินที่จะกำหนดเงื่อนไขของการทำงานของสกุลเงินดิจิทัลเอาไว้ล่วงหน้า เช่น Ethereum (ETH) Cardano (ADA) และ Solana (SOL) เป็นต้น
  3. Stablecoin สกุลเงินที่มีมูลค่าคงที่ ส่วนมากจะตรึงกับค่าเงินเอาไว้แบบ 1:1 เช่น USDT DAI และ USDC เป็นต้น
  4. DeFi ย่อมาจาก Decentralize Finance ใช้เป็นเหมือนโทเค็นเพื่อใช้ทำธุรกรรมการเงินบนแพลตฟอร์มการเงินแบบกระจายศูนย์ เช่น SushiSwap (SUSHI) Uniswap (UNI) และ Pancakeswap (CAKE) เป็นต้น
  5. Value Transfer สกุลเงินที่สร้างเพื่อการทำธุรกรรม โอนสินทรัพย์บนเครือข่ายโดยเฉพาะ เช่น XRP Stellar (XLM) หรือ OMG (OMG Network) เป็นต้น

 โดยนอกจากสกุลเงินดิจิทัลประเภทดังกล่าวข้างต้นแล้ว อาจจะยังมีอีกหลายประเภทเกิดขึ้นใหม่ๆ เช่น GameFi ซึ่งเป็นโทเค็นเพื่อใช้ในเกมส์ที่อยู่บนระบบบล็อกเชน และเหรียญ Meme coin ที่เกิดขึ้นตามกระแสและราคามักจะถูกปั่นตามเจ้าในตลาด

คริปโตคืออะไร

คริปโตเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ มีมูลค่ายังไง

 มูลค่าที่แท้จริงของคริปโตจะขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่สกุลเงินคริปโตสกุลเงินนั้นๆ สร้างขึ้น รวมถึงอุปสงค์และอุปทานด้วย เราจะเห็นว่าคริปโตที่ถูกสร้างขึ้นมามีหลายประเภท ไม่ใช่เพียงแค่การทำธุรกรรมอย่างเดียว หากคริปโตสกุลไหนที่ได้รับความนิยม มีผู้ใช้จริง มีทีมพัฒนาที่โดดเด่นและมีร่วมงานและทำโปรเจคใหญ่ๆ อยู่เสมอ ราคาและมูลค่าของเหรียญก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย ตามกฏของอุปสงค์และอุปทานนั่นเอง

บิตคอยน์เองก็ถือว่าเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีข้อถกเถียงมากที่สุดว่ามูลค่าที่แท้จริงอยู่ตรงไหนและจะกลายเป็นเหมือนยุคฟองสบู่ดอทคอมหรือไม่ ตัวบิตคอยน์เองถูกใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยไม่ผ่านตัวกลาง รวมถึงเจ้าของบัญชีไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลกับใครเพื่อที่จะสามารถสร้างบัญชีเพื่อทำการโอนถ่ายทรัพย์สิน ทำให้รัฐบาลไม่สามารถตรวจสอบได้

จุดเด่นอันแข็งแกร่งนี้ทำให้บิตคอยน์เป็นที่ชื่นชองบรรดาผู้ที่ทำธุรกิจสีเทาหรือผู้ที่ต้องการปกปิดตัวตนในการทำธุรกรรมและทำให้เกิดฐานผู้ใช้งานจริงขึ้นมา ประกอบกับบิตคอยน์ถูกสร้าง (เรียกว่าการขุดหรือ mining) ขึ้นมาอย่างยากเย็นผ่านคอมพิวเตอร์ที่มีกำลังประมวลผลสูงและท้ายที่สุดจะถูกสร้างขึ้นมาเพียงแค่ 21 ล้านเหรียญเท่านั้น ทำให้ผู้ที่มองเห็นมูลค่าของบิตคอยน์ในอนาคต (เมื่ออุปสงค์มีมากกว่าอุปทาน) พากันซื้อเก็บสกุลเงินคริปโตดังกล่าว ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

คริปโตถูกจัดอยู่ในสินทรัพย์เสี่ยงที่นักลงทุนควรศึกษาคู่มือเทรดคริปโตและทำการบ้านอย่างหนัก เพราะว่าเทคโนโลยีที่หนุนหลังคริปโตยังถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มากๆ และยังมีการพัฒนาอยู่ นักลงทุนจึงต้องทำความเข้าใจพื้นฐานของเทคโนโลยีด้วย นอกเหนือจากพื้นฐานธุรกิจของบริษัทผู้พัฒนาคริปโต เพื่อให้สามารถลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย